ลิขสิทธิ์ Windows 8

ลิขสิทธิ์ Windows 8

Windows เป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการ (Operating Systems) ที่ได้รับความนิยม ปัจจุบันก็มาถึงเวอร์ชันใหม่ล่าสุดได้แก่ Windows 8 วันนี้เรามาดูกันในเรื่องของลิขสิทธิ์สำหรับ Windows 8 ที่ออกมามีหลายรุ่นหรือที่เรียกว่า Edition นั้นมีวางขายอยู่ตามตลาดทั่วไปนั้น โดยหลักๆ ก็มี
– Windows 8 Basic Editions
– Windows 8 Professional
– Windows 8 Enterprise
– Windows RT


แต่ละตัวก็มีความสามารถที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่งานที่ใช้ รวมไปถึงราคาของก็แตกต่างด้วย ซึ่งถ้าเรามองจากชื่อของ Edition ของ Windows 8 อย่างเช่น Windows 8 Enterprise ก็พอมองออกว่าเป็น Edition ที่สูงที่สุดมีฟังก์ชันมากที่สุดรวมอยู่

รูปแบบลิขสิทธิ์ที่ Windows 8 ขายอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. Volume Licensing (แบบซื้อจำนวนมาก)
แบบลิขสิทธิ์ประเภทนี้ มีกำหนดว่าจะต้องซื้อจำนวนขั้นต่ำ 5 Licenses สำหรับการซื้อครั้งแรก สามารถลงวินโดวส์ได้กับคอมพิวเตอร์ 5 เครื่องด้วยกัน โดยรูปแบบการใช้แบบนี้จะเป็นแบบที่เรียกว่า Open License เหมาะสำหรับ องค์กรธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs – Small Medium Enterprises) หรือองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ซื้อจะต้องซื้อเป็นจำนวนมาก ถ้าหากว่าคิดจะซื้อมาใช้แค่เครื่องเดียวหรือสองเครื่องคงจะไม่คุ้มค่า
โดยลิขสิทธิ์ประเภทนี้ จะมีลักษณะของระยะเวลาที่กำหนด เช่น รูปแบบลิขสิทธิ์แบบ 1 ปี เป็นต้น ซึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี ที่อยู่ในสัญญา ผู้ซื้อสามารถรับสิทธิ์ในการอัพเกรด (Upgrade) ผลิตภัณฑ์ ของ Windows ได้ รวมไปถึงสิทธิ์ในการอัพเดท (Update) เช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากหมดสัญญาสิทธิ์เหล่านี้ก็จะหมดลงไปทันที
สำหรับ License Key ที่ทางไมโครซอฟท์ให้มาก็จะให้มาเป็นตัวเลขชุดเดียวกัน เช่น ซื้อมา 10 Licenses  ก็จะได้มาแค่ชุดเดียว โดยนำ Authorization Number และ License Number ที่ได้มาไปสร้าง(Generate) บนเว็บไซต์ของ Microsoft สำหรับการเข้าไปสร้าง Product Key เพื่อนำไปใช้ในแต่ละเครื่องทั้งหมด 10 เครื่อง
สำหรับสิทธิ์ในการอัพเกรดในที่นี้จะเป็นลักษณะนี้ เช่น ใช้รูปแบบลิขสิทธิ์ประเภท Open License อยู่โดยซื้อ Windows 7 Professional มาและระหว่าง 1 ปีที่อยู่ในระยะเวลาของสัญญายังไม่หมด ทางไมโครซอฟท์เกิดออก Windows 8 ออกมา ท่านจะได้รับสิทธิ์ในการอัพเกรดเวอร์ชันทันที ซึ่งทางไมโครซอฟท์จะทำการส่งแผ่นอัพเกรดหรือที่เรียกกันว่า Disk Kit (จะเป็นแค่แผ่นๆ เดียว แต่สามารถใช้ได้กับทุกเครื่องที่ซื้อ License) โดยจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆแบบนี้ เป็นต้น
คำว่า Open License ตามที่กล่าวมาแล้วนั้นความจริง Open License เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Volume Licensing เท่านั้น เป็น Licenses ที่เหมาะกับพวก บริษัท หรือ ห้างร้าน มากกว่า ความจริงแล้วเรื่องการซื้อแบบ Volume มีหลายแบบ มีทั้งแบบซื้อขาด (Perpetual) และ เช่าใช้ (Leasing / Subscription) แล้วแต่ความต้องการของผู้ซื้อที่ไมโครซอฟท์มีบริการให้ คราวนี้เรามาลงรายละเอียดชนิดของ Volume Licensing กันว่าแต่ละแบบต่างกันอย่างไร
  •  Open Licenses
มีขายแบบทั้ง License แบบปกติคือไม่ต้องการการอัพเกรด แต่ถ้าอยากได้การ Upgrade ด้วย จะต้องซื้อพร้อมกับสิ่งที่ทางไมโครซอฟท์เรียกว่า Software Assurance (SA) หรือ การรับประกันสินค้า ซึ่งในการรับประกันสินค้าของซอฟต์แวร์นั้น การรับประกันสินค้าก็คือการได้รับสิทธิ์ Upgrade นั้นเอง โดยการประกันสินค้าอายุแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่ก็สามารถต่ออายุภายหลังได้
  • Open Values
เป็น Licenses แบบมี Software Assurance (SA) ผูกมัดมากับสัญญา (บังคับซื้อ) Licenses แบบนี้ราคาจะถูก
  •  Open Value Subscriptions
เป็น Licenses แบบเช่าใช้ เพิ่ม-ลดได้ตามขนาดของ องค์กร หรือ บริษัท ก็จะได้ Licenses + SA (Software Assurance)ตลอดระยะเวลาที่ทำ Subscription อยู่ แต่ Licenses จะไม่ใช่ของลูกค้ายกเลิก เมื่อไหร่ก็ต้องเลิกใช้เมื่อนั้นมี
ข้อดี
- สะดวกง่ายแก่การอัพเกรดเวอร์ชันหรือัพเดทข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เรื่อยๆ เรียกว่าไมโครซอฟท์บริการตลอดไม่ว่าจะออกเวอร์ชันใหม่ Patch หรือ Service Pack ใหม่มา
– สามารถย้ายเครื่องลงได้ไม่ยึดติดอยู่กับเครื่องใดเครื่องหนึ่ง แต่จะต้องอยู่ภายในจำนวน License ที่ซื้อมา เช่น ซื้อมา 5 ก็ต้องลงเครื่องแค่ 5 เท่านั้น (มีการตรวจสอบออนไลน์)

ข้อเสีย
– ราคาค่อนข้างสูง
– ต้องซื้อเป็นจำนวนมากเท่านั้น แบบนั้นไม่คุ้ม
– มีระยะเวลาที่กำหนด เมื่อใดหมดระยะเวลาไปสิทธิ์ต่างๆ ที่เคยได้รับจะหายไป


2. OEM License
สำหรับ OEM License หรือรูปแบบลิขสิทธิ์ประเภท OEM ซึ่งย่อมาจากคำว่า Original Equipment Manufacturer  รูปแบบลิขสิทธ์แบบนี้เมื่อเทียบกับรูปแบบอื่นๆ นั้น แบบนี้ถือว่าราคาถูกที่สุด แต่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขอยู่พอสมควร ดังนี้
1. สามารถติดตั้งได้แค่เพียง 1 เครื่อง ต่อ 1 License
2. เมื่อติดตั้งลงเครื่องแรกไปแล้ว จะไม่สามารถนำไปลง เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่นได้เลย เครื่องเสีย License ก็หายไปด้วย
3. ในกรณีมีการอยากอัพเกรดหรือเปลี่ยนอุปกรณ์บางส่วนของเครื่องจะมีปัญหา ด้วยสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลยคือ CPU และตัวเมนบอร์ด เนื่องจากในทางคอมพิวเตอร์การเปลี่ยน CPU และเมนบอร์ดตัววินโดวส์จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นหรือเครื่องใหม่ ดังนั้นถ้าสองตัวนี้เสียขึ้นมา คุณจะต้องซื้อลิขสิทธิ์ใหม่และของเก่าก็ต้องทิ้งครับ
4. ผู้ซื้อจะต้องเลือกวินโดวส์ให้ถูกต้องในเรื่อง 32 บิตหรือ 64 บิต จะไม่สามารถมาเปลี่ยนใจกันทีหลังได้ เช่น ซื้อแผ่น OEM แบบ 32 Bits มาใช้ แล้วมาเปลี่ยนใจ อยากจะใช้ 64 บิตไม่ได้ ต้องซื้อใหม่สถานเดียว

ข้อดี
– ราคาถูกที่สุดในรูปแบบลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ทั้งหมด
– ความสามารถทุกอย่างเหมือนกับรูปแบบลิขสิทธิ์แบบอื่นๆ

ข้อเสีย
– มีข้อจำกัดต่างๆ อยู่มากตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
– มีความเสี่ยงสูงเพราะ CPU และเมนบอร์ดของคุณจะต้องไม่เสียเลยตลอดอายุการใช้งาน
-ไม่สามารถเปลี่ยนชนิด บิต(Bit) ได้ภายหลังได้ เช่น 32 ขึ้นไป 64 บิต หรือ 64 ลงมา 32 บิต ซื้อแล้วซื้อเลยเปลี่ยนไม่ได้


3. FPP (Full Package Product) หรือแบบกล่อง
แบบสุดท้ายนี่คือแบบ FPP หรือเรียกว่า Full Package Product ที่ทั่วไปจะเรียกว่า BOX สำหรับคุณสมบัติของรูปแบบลิขสิทธิ์แบบ FPP นั้นก็เหมือนประเภทอื่นๆ แต่ว่าซื้อมา 1 กล่องก็ได้ 1 License แต่แตกต่างกับ OEM คือสามารถย้ายเครื่องไปลงที่เครื่องอื่นได้ตลอดไม่มีวันหมดอายุ
ปกติ FPP ใน 1 แพคเกจ (Package) จะมีแผ่น DVD อยู่ 2 แผ่น ทั้งแบบ 32 Bits (X86) และ 64 Bits (X64) ให้เลือกลงได้อย่างใดอย่างนึงได้ตามใจชอบ แต่มี Product Key ตัวเดียวนะครับ

ข้อดี
– เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ใช้ตามบ้านเนื่องจากสามารถลงที่เครื่องไหนก็ได้
– หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด
– สนับสนุนระบบสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งจาก 32 ไป 64 หรือ 64 มา 32 ได้ เนื่องจากภายในกล่องมีให้มา 2 แผ่น ทั้งนี้ยังมีสิทธ์ดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้จากบนเว็บไซต์ในกรณีแผ่นเสียหรือหาย

ข้อเสีย
– ราคาจะสูงกว่าแบบ OEM


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สัญลักษณ์ Flowchart

WINS คืออะไร ทำงานอย่างไร และต่างจาก DNS อย่างไร

RTO & RPO คืออะไร