มาทำความรู้จักกับ Blu-ray Disc

เมื่อพูดถึง Optical Storage ที่สามารถบรรจุข้อมูลได้มาก และมีความคงทน หลายๆ คน คงจะนึกถึง CD (Compact Disc) และ DVD (Digital Versatile Disc) ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทมากในตลาดเพลง และภาพยนตร์ และแม้ว่า DVD จะมีสนนราคาแพงกว่า CD อยู่มากนักทั้งตัวดิสก์ และเครื่องเล่น แต่ความนิยมก็ยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแผ่น DVD สามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่า CD ถึง 6-7 เท่า และความละเอียด ก็ยังมีสูงกว่า ซึ่งคอหนังนิยมจะเก็บหนังเรื่องที่ชอบ หรือหนังในดวงใจให้อยู่ในรูปของ DVD มากกว่า ถ้าหากมีกำลังทรัพย์ เพราะความละเอียด คมชัด ระบบเสียงที่ดี แถมยังไม่ต้องเสียอรรถรสในการดูหนังที่จะต้องมาคอยเปลี่ยนแผ่นเรื่อยๆ อีกด้วย เรามาดูกันว่าทั้ง CD และ DVD มีการพัฒนามายังไง

พัฒนาการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของดิสก์
เริ่มจากการพัฒนาดิสก์มาจัดเก็บในรูปแบบของ Optical Storage ซึ่งใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์ในการบันทึก ซึ่ง Optical Storage ยุคแรกก็คือ CD “CD” (Compact Disc) นั้น ได้ก่อกำเนิดขึ้นมามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อราวๆ 10 กว่าปีนี้เอง ในการเขียน CD นั้น ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สีแดงที่มีความยาวของคลื่นแสง 780 nm. (nanometer) เริ่มแรกเลยนั้น CD ใช้สำหรับบรรจุข้อมูลแบบ Audio ซึ่งก็คือ CD เพลงต่าง ๆ (ที่ออกมาวางขายคู่กับเทป แต่ราคาแพงมากเกินจะตัดใจซื้อได้) และได้ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็น CD-ROM ที่มีความจุ 600-700 MB. (Megabyte) ที่เราใช้เก็บข้อมูลต่างๆ ในทุกวันนี้ จากนั้น พัฒนาการของดิสก์ ก็ไม่ได้หยุดเพียง CD เท่านั้น เพราะความต้องการที่จะบรรจุข้อมูลให้มากขึ้น และมีคุณภาพสูงกว่าเดิม จึงมีการพัฒนามาเป็น “DVD” (Digital Versatile Disc) DVD ได้เริ่มใช้แพร่หลายมา 2 ปีแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สีแดงเช่นกัน แต่ความยาวของคลื่นแสงสั้นกว่าคือ 650 nm. ซึ่งทำให้ DVD มีความจุมากขึ้น ถึง 4.7 GB (Gigabyte) ในดิสก์แบบด้านเดี่ยวชั้นเดียว (Single sided single layer) ความจุระดับนี้ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลของ CD หลาย ๆ แผ่น มาไว้ใน DVD แผ่นเดียวได้เลย และคุณภาพในการบันทึกเสียง และมัลติมีเดียต่าง ๆ ก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย DVD ได้พัฒนาออกมาหลายแบบ มีทั้ง DVD5, DVD9, DVD10 และ DVD18 ซึ่งมีความจุสูงสุดอยู่ที่ 18 GB ในแผ่นแบบสองด้านชั้นคู่ (Double Side Double Layer) ลักษณะการใช้งานของแต่ละแบบ ก็ขึ้นอยู่กับความละเอียด และคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของข้อมูลที่บันทึกลงไป ทำให้ DVD ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า จากหนัง 1 เรื่อง ที่ใช้ CD เก็บ 2 แผ่น มาเป็น หนัง 1 เรื่องต่อ DVD เพียง 1 แผ่น แล้วถ้าหากเป็นหนังชุด หรือหนัง Series ล่ะ ซึ่งยังไงๆ ก็ยังต้องใช้ DVD มากกว่า 1 แผ่น อยู่ดี ความต้องการที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้ง


และแล้วเทคโนโลยีใหม่ก็เกิดขึ้น
เทคโนโลยีนี้ มีชื่อว่า Blu-ray เกิดจากความร่วมมือ และพัฒนาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ 9 บริษัท ที่เรียกตัวเองว่า “The Blu-ray Disc Founders” ซึ่งประกอบไปด้วย Hitachi Ltd., LG Electronics Inc., Matsushita Electric Industrial Co., Ltd., Pioneer Corporation, Royal Philips Electronics, Samsung Electronics Co. Ltd., Sharp Corporation, Sony Corporation และ Thomson Multimedia และนอกจากจะร่วมมือกันพัฒนาแล้ว ยังจะร่วมกันผลักดันเทคโนโลยี Blu-ray ให้เป็นมาตรฐานของแผ่นดิสก์ต่อไปอีกด้วย เทคโนโลยี Blu-ray สามารถบันทึกข้อมูล, ภาพ, เสียง, วิดีโอ และมัลติมีเดียต่างๆ ที่มีคุณภาพสูงได้มากกว่า DVD ซึ่งดิสก์ที่ใช้กับเทคโนโลยีนี้ จะเรียกว่า “Blu-ray Disc (BD)”



“BD” (Blu-ray Disc) นั้น เป็นชื่อที่มาจากแสงเลเซอร์ที่ใช้คือ แสงเลเซอร์สีน้ำเงิน (Blue Laser) ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 1996 โดย นาย Shuji Nakamura ซึ่งเป็นนักวิจัยของ Nichia Corp. BD ใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์สีน้ำเงิน ที่มีความยาวคลื่นเพียง 405 nm. กับเลนส์ขนาด 0.85 และโครงสร้างแบบ Optical transmittance protection disc layer ที่มีความหนาเพียง 0.1 mm. ทำให้เก็บข้อมูลได้มากถึง 27 กิกะไบต์ ในดิสก์แบบด้านเดี่ยวชั้นเดียว(Single sided single layer) ในแผ่นขนาด 12 เซนติเมตร (เท่ากับ CD และ DVD ทั่วไป) ซึ่งนั่นหมายความว่า เราสามารถเก็บหนังที่มีหลายภาคต่อเนื่องอย่างเช่น Star War หรือหนังชุดอย่าง เช่น เจาะเวลาหาจิ๋นซี ได้ ลงในดิสก์เพียงแค่แผ่นเดียว! ด้วยความจุที่มีมากถึง 27 กิกะไบต์ BD สามารถบันทึกวิดีโอดิจิตอลในมาตรฐานภาพยนตร์ทั่วๆ ไป (VHS) ได้ถึง 13 ชั่วโมง (แผ่น DVD บันทึกได้ 2-3 ชั่วโมง) และสัญญาณที่มีคุณภาพระดับสูงกว่านั้น หรือ HDTV (High-resolution digital Television) ได้ถึง 2.5 ชั่วโมง (แผ่น DVDบันทึกได้ไม่ถึง 30 นาที) โดยยังรักษาคุณภาพของข้อมูลที่เป็นต้นฉบับไว้อย่างครบถ้วน และนอกจากนี้ BD ยังมีการบันทึก Unique ID (RID) ลงไปเพื่อช่วยในการอ้างอิง และแสดงลิขสิทธ์ใน Record stream อีกด้วย คุณสมบัติพิเศษของ BD ที่เป็นลักษณะเด่นของการใช้เทคโนโลยี Blu-ray ก็คือ อัตราการถ่ายโอนข้อมูลของเลเซอร์สีน้ำเงิน ที่มีความเร็วสูงถึง 36 Mbps. และใช้เทคโนโลยีการบีบอัดแบบ MPEG-2 Transport Stream ทำให้สามารถบันทึกสัญญาณ หรือข้อมูลคุณภาพสูงได้ โดยใช้เวลาเพียงน้อยนิด ความเร็วนี้ ยังสามารถส่งข้อมูลเพื่อ Record/Playback แบบ Real-time ได้ และยังสามารถแก้ไข , Capture ภาพจากกล้องวิดีโอ หรือภาพยนตร์ไปพร้อมๆ กับการบันทึกรายการในโทรทัศน์ได้ในเวลาเดียวกัน เครื่องเล่น BD จึงสามารถใช้เล่นแผ่น BD และยังบันทึกข้อมูลลงแผ่นได้อีกด้วย

แม้มีคุณสมบัติที่โดดเด่น แต่..ก็ยังมีข้อจำกัด
จากที่ทราบมาแล้วข้างต้นว่า BD นั้น ใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์สีน้ำเงิน ซึ่ง CD และ DVD ในปัจจุบัน ใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์สีแดง ฉะนั้น เครื่องเล่น CD และ DVD ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีแสงเลเซอร์สีน้ำเงินที่จะอ่านแผ่น BD ได้ และในเหตุผลเดียวกัน เครื่องเล่น BD เองก็ไม่สามารถอ่านแผ่น CD หรือ DVD ทั่วๆ ไปได้เหมือนกัน ทำให้เครื่องเล่น BD อาจจะต้องพัฒนาให้มีระบบแสงเลเซอร์ทั้ง 2 ชนิด (เลเซอร์สีน้ำเงิน และสีแดง) อยู่ในเครื่องเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถอ่านทั้งแผ่น BD, CD และ DVDได้ ซึ่งแน่นอนราคาของเครื่องเล่น BD จะสูงมากกว่าเครื่องเล่นชนิดอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย


สรุปคุณสมบัติพิเศษของ BD
1. ความจุในการบันทึกข้อมูลสูงถึง 27 กิกะไบต์

2. อัตราการถ่ายโอนข้อมูลมีความเร็วสูงถึง 36 Mbps.
3. ง่ายต่อการดูแลรักษาจากฝุ่น และลายนิ้วมือ เพราะมีคาร์ททริดจ์ปกป้อง

ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่น ที่สามารถสนองความต้องการได้อย่างไม่หยุดยั้งนี้เอง ทำให้ Blu-ray Disc น่าจะเป็นที่จับตามองต่อไปว่า จะสามารถเข้ามาตีตลาด และครองใจแฟนๆ CD และ DVD ได้หรือไม่ เพราะด้วยข้อจำกัดในเรื่องเครื่องเล่น ตัวแผ่น รวมไปถึงสนนราคาที่ค่อนข้างจะสูงเอาการ

ความคิดเห็น

P.Metee กล่าวว่า
New Blog
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
BD มีการระบุโซนเหมือน DVD หรือเปล่า??

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สัญลักษณ์ Flowchart

WINS คืออะไร ทำงานอย่างไร และต่างจาก DNS อย่างไร

RTO & RPO คืออะไร